
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
จากกรณี มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ระบายว่า เมื่อฉันโดนไฟดูดจากตู้กดบัตรจอดรถอัตโนมัติที่ห้างดังแห่งหนึ่ง ยืนยันว่ารู้สึกเหมือนโดนไฟดูดทั้งที่แค่ยื่นมือไปและยังไม่แตะเครื่องด้วยซ้ำ โดยหลังเกิดเหตุมีอาการแขนไม่มีแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลนั้น
วันที่ 16 มิถุนายน นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant วิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ ในหัวข้อ "ไฟฟ้าดูด จากตู้กดบัตร โดยไม่แตะโดนตู้ ได้ด้วยหรือ" เจอโจทย์ยากเช้านี้ หลังจากแฟนเพจท่านหนึ่งถามมาว่า เรื่องที่มี "คนเกือบตาย เพราะโดนไฟดูด จากเครื่องกดบัตรจอดรถ" ว่าจะโดนไฟดูดได้ด้วยหรือ ? เพราะตามในรายงานข่าว บอกว่า ยังไม่ได้แตะโดนเครื่อง ก็โดนไฟดูดแล้ว ?!
คือตามรายงานข่าว บอกว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ โดนไฟดูดจากตู้กดบัตรจอดรถอัตโนมัติ ที่ห้าง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ตอนบ่าย ขณะขับผ่านเครื่องกดบัตร ก็ลดกระจก เอามือไปโบกหน้าเครื่อง (ระบบเซ็นเซอร์) แต่ตอนเอามือยื่นออกไป "ยังไม่แตะเครื่อง" เลย รู้สึกไฟดูด แขนชา จี๊ดขึ้นหัว แล้วก็ชาลงไปถึงขา บัตรก็ไหลออกมาจากเครื่อง แต่ไม้กั้นรถไม่เปิด (คิดว่าไฟฟ้าในเครื่องมันน่าจะขัดข้อง) จนต้องบีบแตรหลายที กว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาเปิดไม้กั้นให้ เลยรีบเอารถเข้าไปในลานจอด เดินไปขอความช่วยเหลือ เพราะชาไปครึ่งตัวแล้ว

ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
ไฟดูดจากตู้กดบัตร แม้ไม่ได้สัมผัสตู้ อาจเกิดจากอะไร
ถ้าเครื่องกดบัตรจอดรถตัวนั้นมีปัญหาไฟฟ้ารั่ว อันเนื่องจากไม่ต่อสายดินให้ดี หรือระบบสายดินมีปัญหา ก็อาจจะทำให้ไฟฟ้า 220 โวลต์แบบไฟบ้าน ไหลอยู่ในส่วนที่เป็นโลหะของเครื่อง และเมื่อมีผู้ใช้มา "แตะโดน" ก็จะถูกไฟดูดได้ แต่ก็ไม่น่าจะรุนแรงนัก เนื่องจากนั่งอยู่ในรถยนต์ (ที่มีล้อยาง) และก็ทำให้กระแสไฟฟ้าผ่านร่างกายลงสู่พื้นดินได้ยากขึ้น ทำให้มีกระแสไฟฟ้าจำนวนไม่มากไหลผ่านร่างกาย และจะทำให้รู้สึกชา ๆ แปล๊บ ๆ แบบ "ต่อเนื่อง"
ประเด็นปัญหาคือ ผู้เคราะห์ร้ายยืนยันว่า มือยื่นออกไปยังไม่แตะเครื่อง ก็โดนไฟดูดแล้ว ? ดูลักษณะเครื่องจากรูป ก็ไม่น่าจะต้องสัมผัสโดนเครื่อง เพราะเป็นแบบกระดาษยื่นยาวออกมา (บางห้าง เป็นการ์ดแข็ง ก็ยังพอมีโอกาสมาหน่อยที่จะไปโดนตัวเครื่อง เมื่อจะหยิบการ์ดที่ติดกับช่องแจกบัตร) และก็มีบางคอมเมนต์ที่มาเสริมว่า เคยโดนแบบนี้ที่เครื่องกดบัตรของห้างนี้เช่นกัน ซึ่งแปลกมาก
ซึ่งถ้าไฟฟ้า 220 โวลต์รั่วตามที่คาดการณ์กันไว้ มันก็ไม่น่าจะเกิดกรณีไฟฟ้ากระโดดออกมาจากเครื่อง มาทำร้ายผู้ใช้งานที่เข้าใกล้ ไม่เหมือนพวกตู้ไฟฟ้าแรงสูง หลายหมื่นโวลต์ แบบนั้น
คำอธิบายหนึ่งที่พอเป็นไปได้ หรือว่าจะเกิดจาก "ไฟฟ้าสถิต" กระโดดจากฝาครอบโลหะ ของช่องแจกกระดาษ มาโดนปลายนิ้วที่บังเอิญเข้าไปใกล้มาก ซึ่งเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ เวลาที่เราขับรถมานาน ๆ ร่างกายเสียดสีกับผ้าเบาะรถ แถมเปิดแอร์อากาศแห้งเลยเกิดการสะสมประจุไฟฟ้าและก็เกิดอาการ "ไฟช็อต จากไฟฟ้าสถิต" จื๊ดดด หนึ่ง ครั้งเดียว แต่แรงมาก
ปริศนาเรื่องนี้ คงต้องรอคำชี้แจงจากทางห้าง ว่ามีการตรวจสอบตู้กดบัตรจอดรถ ตู้ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าไฟรั่ว แล้วหรือไม่ และได้ผลว่าอย่างไร ? มีปัญหาเรื่องสายดินหรือเปล่า ?
ส่วนคำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป คือ เวลาใช้ตู้พวกนี้ ก็หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตัวตู้ครับ หยิบแค่กระดาษหรือการ์ดบัตรจอดรถออกมา โดยไม่โดนกับโลหะที่ตู้ อย่างน้อย ก็ลดความเสี่ยงการถูก "ไฟฟ้าสถิต" จากตัวเราเองดูดเอาได้ครับ